วันพฤหัสบดีที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2553

พราหมณ์ กับสังคมไทย

 

พราหมณ์ กับสังคมไทย
Copyright © 2010 all rights reserved by http://www.trisulidevalai.com/

โดย ชาคริต


 

(ภาพ: พราหมณ์ประกอบพิธีคงคาอารตี แม่น้ำบัคมาติ หน้าวัดปสูปตินาถ ประเทศเนปาล)

แล้วพราหมณ์ทำหน้าที่อะไรมีบทบาทอย่างไรในศาสนาพราหมณ์-ฮินดูและสังคม แน่นอนพราหมณ์ย่อมต้องมีหน้าที่สอนหลักธรรมและหลักการของศาสนา สอนปรัชญา จารีต ประเพณี ตามนิกายที่ตนเองนับถืออยู่โดยนำความรู้จากพระเวทและคัมภีร์ต่างๆมาสอนสั่งผู้ที่ต้องการเรียนรู้และเป็นผู้ประกอบพิธีที่เกี่ยวข้องกับความเป็นมงคล การสรรเสริญพระเป็นเจ้าตามรูปแบบพิธีกรรมตามจารีตประเพณีโบราณที่สืบทอดกันมา ดังนั้นพราหมณ์จึงถือเป็นปราชญ์ของสังคม พราหมณ์เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการอัญเชิญพระเป็นเจ้าลงมาสถิตยังมงคลสถานเพื่อเป็นสักขีพยานในพิธีหรือรับเครื่องบูชาสังเวยพลีจากผู้บูชาโดยผ่านพราหมณ์ผู้ประกอบพิธี พราหมณ์เป็นผู้รับใช้พระเป็นเจ้าเป็นสื่อกลางในการประกอบพิธีกรรมซึ่งพิธีกรรมของพราหมณ์นั้นไม่เกี่ยวข้องกับคติหรือความเชื่อในลักษณะเป็นบาป เช่นการทำ คุณไสย หรือมนต์ดำ ไสยศาสตร์ พราหมณ์คือผู้ครองตนในทางที่ถูกที่ควรตามจริยะวัตรอันดีงาม และชี้นำสังคมให้เดินตามทางสันติสุข แนวทางการปฏิบัติหรือการประพฤติตนเองของพราหมณ์ย่อมต้องเป็นแบบอย่างที่ดีต่อสังคม ต่อผู้ศรัทธาในเหล่าเทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เป็นผู้ชี้แนะแนวทางในการดำเนินชีวิตตามนัยยะคติของนิกาย ดังนั้นพราหมณ์ที่ดีย่อมเป็นผู้ที่น่าสรรเสริญในคุณความดีที่ได้สั่งสมมา ดังเช่นศาสนาพุทธที่สอนให้คนเรารู้จักที่จะเคารพบูชาและสรรเสริญผู้อื่นจากการกระทำดีหาใช่แต่เพราะว่าเขาเหล่านั้นคือใคร เป็นใคร วรรณะใด หากแต่อยู่ที่การกระทำความดีเป็นที่ตั้ง คำว่าการทำดี ครองตนดีของพราหมณ์ส่วนหนึ่งก็คือไม่เบียดเบียนผู้อื่น เห็นค่าของสิ่งมีชีวิตบนโลก เพราะนั่นคือสิ่งที่พระเป็นเจ้าได้รังสรรค์ไว้ให้ ยินดีกับพรที่พระเป็นเจ้าได้สร้างสรรค์สรรพสิ่งต่างๆไว้ให้เหล่ามนุษย์

ดังนั้นพราหมณ์ในศาสนาพราหมณ์-ฮินดูแม้ว่าจะมีวิถีทางที่ แนวความคิดแตกต่างหรือมีที่มาแตกต่างจากคติของศาสนาพุทธแต่เมื่อมองในมุมของการประพฤติปฏิบัติตนแล้วย่อมสามารถที่จะสรรเสริญในคุณงามความดีได้เฉกเช่นเดียวกับคนทั่วไปประกอบคุณความดี หากแต่ว่าพราหมณ์คนใดไม่ได้ครองตนอยู่ในทางที่ถูกที่ควร ประกอบกิจพิธีที่เป็นอัปมงคลต่อผู้อื่น พราหมณ์ผู้นั้นก็ไม่ควรที่จะได้รับการสรรเสริญยกย่องแต่ประการใด แม้แต่พระเป็นเจ้าย่อมไม่ยินดีในการกระทำเหล่านั้น และเมื่อมองย้อนกลับไปถึงพิธีกรรมที่มีการเอาเลือดมาเทที่พื้นในลักษณะนี้ สำหรับผู้เขียนแล้ว ผมเองทราบคำตอบในใจว่าพิธีดังกล่าวเป็นพิธีมงคลที่พราหมณ์ควรที่จะเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยหรือไม่ และเป็นพิธีกรรมในศาสนาพราหมณ์-ฮินดูหรือไม่ หรือนั่นเป็นเพียงแค่เดรัจฉานวิชาอย่างหนึ่ง ไสยศาสตร์ในอีกรูปแบบหนึ่ง
ओम शांति शांति शांति
โอม ศานติ

ท่านสามารถหาอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
http://www.trisulidevalai.com/


Copyright © 2010 all rights reserved by Trisuli

(ภาพ: พราหมณ์ฮินดูกำลังประกอบพิธีบูชาสรงน้ำเทวรูป)
พราหมณ์ผู้เป็นนักปราชญ์ ปราดเปรื่องและเชี่ยวชาญในพระเวททั้งหลายก็ไม่เหมาะที่จะเป็นคุรุของผู้หนึ่งผู้ใดหากพราหมณ์ผู้นั้นไม่สามารถเข้าถึงพระเป็นเจ้าได้ ในทางตรงกันข้ามหากผู้ใดสามารถเข้าถึงพระเป็นเจ้าได้แม้นว่าจะเป็นผู้ที่มีกำเนิดมาจากวรรณะจัณฑาล เขาผู้นั้นก็ได้ชื่อว่าเป็นคุรุของคนทั่วไปได้ ปัทมะ ปุราณะ

สำหรับพราหมณ์อีกกลุ่มที่จะกล่าวถึงก็คือพราหมณ์ราษฎร์ ซึ่งในที่นี้ก็คือพราหมณ์ที่ไม่ได้รับการบวชในเทวสถานโบสถ์พราหมณ์ในช่วงพระราชพิธีตรียัมปวาย-ตรีปวาย พราหมณ์ราษฎร์ในความคิดของผู้เขียนเอง คือผู้ที่มีสายเลือดของพราหมณ์หากแต่ไม่ได้เข้าถวายงานรับราชการกินเบี้ยหวัดอย่างพราหมณ์หลวง แต่ได้มีการบวชในรูปแบบของตนเองหรือในกลุ่มของพราหมณ์ในครอบครัวของตนเอง ด้วยสายเลือดและความรู้ในตำรับตำราที่รับสืบทอดมาในตระกูลของตนเองจึงทำให้พราหมณ์ราษฎร์ที่ได้ศึกษาและเชี่ยวชาญในพระเวทและพิธีกรรมก็สามารถที่จะประกอบพิธีเพื่อความเป็นสิริมงคลให้กับงานพิธีต่างๆได้เช่นเดียวกัน ตระกูลของพราหมณ์ที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทยนั้นมีจำนวนมากมายอยู่ที่ว่าครอบครัวหรือตระกูลนั้นๆจะได้เคยเข้าถวายงานกับราชการหรือไม่ เพราะโดยการบันทึกในสมัยก่อนนั้นจะปรากฏชื่อหรือเหตุการณ์เฉพาะที่สำคัญเท่านั้น สำหรับการบันทึกในแบบของชาวบ้านธรรมดาทั่วไปนั้นไม่ปรากฏให้เห็นมากนัก จนเป็นเหตุให้ข้อมูลและความรู้ในศาสตร์ต่างๆ ลบเลือนหายออกไปจากสังคมไทย และโดยเฉพาะความรู้เกี่ยวกับตระกูลของพราหมณ์ ในศาสนาพราหมณ์-ฮินดูในปัจจุบันนั้น ผู้ที่จะเป็นพราหมณ์หรือได้รับการบวชพราหมณ์นั้น นอกไปจากผู้ที่เกิดในตระกูลตามวรรณะของตนเองแล้ว ผู้ที่เกิดนอกวรรณะพราหมณ์ก็สามารถบวชพราหมณ์ได้เช่นกันแต่ยกเว้นอยู่เพียงคนกลุ่มเดียวซึ่งเป็นวรรณะต้องห้ามซึ่งขอที่จะไม่กล่าวถึงในตอนนี้ พราหมณ์ที่มาจากวรรณะอื่นหรือในกรณีของพราหมณ์ที่มาจากประเทศอื่นๆเช่น ประเทศทางแถบยุโรป เป็นต้นนั้นก็สามารถที่จะได้รับการบวชพราหมณ์จากเหล่าคุรุได้เช่นเดียวกันกับพราหมณ์ที่เกิดและสืบเชื้อสายมาจากชาวชมพูทวีปโดยเมื่อผ่านพิธีอุปนายะฯแล้ว คนผู้นั้นก็ย่อมจะได้ชื่อว่าเป็นพราหมณ์ในนิกายที่ตนได้เข้าไปบวช โดยในประเทศอินเดียนั้นมีมหาวิทยาลัยของพราหมณ์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกแห่งหนึ่งอยู่ที่เมืองพารานาสี โดยมหาวิทยาลัยแห่งนี้ได้สร้างนักคิดนักเขียน และพราหมณ์ที่มีความรู้ความสามารถเป็นนักปราชญ์ออกมารับใช้สังคมและพระเป็นเจ้าอย่างมากมาย การศึกษาในมหาวิทยาลัยแห่งนี้ใช้เวลาศึกษาเล่าเรียนประมาณ 5 ปีเป็นอย่างน้อย และหลังจากนั้นจะเป็นจาริกแสวงบุญเพื่อค้นหาสัจจะธรรมและความหลุดพ้นเพื่อเข้าสู่พระเป็นเจ้าตามหนทางของลัทธินิกายที่ตนเองนับถืออยู่ สำหรับตระกูลพราหมณ์เท่าที่มีการสืบค้นและมีหลักฐานแน่นอนว่ามีความเกี่ยวข้องกับราชสำนักไทยมาตั้งแต่ครั้นโบราณกาลก็มีพราหมณ์อยู่หลายตระกูล แต่สำหรับตระกูลของพราหมณ์หลวงที่ได้สืบเชื้อสายมาจากบรรพบุรุษของตนเองมีอยู่ 7 ตระกูล ได้แก่ตระกูล โกมลเวทิน สยมภพ นาคะเวทิน รัตนพราหมณ์ ภวังคนันท์ วุฒิพราหมณ์ และรังสิพราหมณกุล ถามว่าแล้วจะมีตระกูลอื่นนอกเหนือจากนี้เป็นพราหมณ์ด้วยหรือไม่ คำตอบสำหรับผู้เขียนก็คือ มีครับ เพียงแต่มีการเปิดเผยในวงกว้างหรือไม่เท่านั้น เพราะหลายตระกูลก็ไม่ได้ทำหน้าที่พราหมณ์ประกอบพิธีอีกแล้วก็มีอยู่หลายตระกูล

พราหมณ์ (เทวนาครี : ब्राह्मण)


คำๆนี้กลับมาเป็นจุดสนใจของสังคมไทยโดยกว้างอีกครั้งหนึ่งหลังจากที่เกิดเหตุการณ์กรณีที่เจ้าพิธีของกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง (น.ป.ช.)ได้ประกอบพิธีนำเลือดของผู้ชุมนุมมาเทราดในสถานที่ต่างๆโดยนัยยะเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการสาปแช่งต่อฝ่ายตรงกันข้าม จนเป็นที่กล่าวขานและพูดคุยกันในวงกว้างถึงความเหมาะสมของพิธีกรรมดังกล่าว ทำให้ประชาชนโดยทั่วไปตั้งคำถามถึงการกระทำดังกล่าวว่ามันคืออะไร และนำไปสู่คำถามกับตัวผู้เขียนว่า สิ่งที่เกิดขึ้นมันคืออะไร หลายๆคนไม่เข้าใจว่าเหตุใดจึงได้มีคนคิดอุดตริเอาเลือดของคนจำนวนมากไปเทพื้นได้ สำหรับคติจารีตของครอบครัวผู้เขียนเท่าที่ได้ศึกษามาไม่มีปรากฏพิธีดังกล่าวและมีการเชิญพระพุทธรูปมาเป็นประธานในการทำพิธีเทเลือดด้วยยิ่งไม่ใช่ใหญ่ และที่สำคัญก็คือ ตามจารีตวิถีพราหมณ์แล้ว เลือดคือสิ่งที่มีคุณค่า เพราะเลือดคือเครื่องหล่อเลี้ยงชีวิต คนเราขาดเลือดก็ต้องดับชีวิต ดังนั้นเลือดแม้เพียงหนึ่งหยดก็มีคุณค่า จึงเป็นที่น่าแปลกใจกับผู้เขียนอยู่พอสมควรว่าเหตุใด บุคคลท่านนั้นจึงได้คิดอุดตริกระทำพิธีเช่นนั้น ซึ่งนำมายังความสับสนในพิธีกรรมแปลกๆ และทำให้หลายคนเริ่มสงสัยและเริ่มค้นหาว่า ตกลงนี่คือวิถีทางของพราหมณ์ พิธีพราหมณ์หรืออย่างไร หรือว่ามันคือไสยศาสตร์

ตามประวัติศาสตร์แล้วพราหมณ์และศาสนาพราหมณ์นั้นเข้ามามีบทบาทในสังคมไทยมานับตั้งแต่ยุคสมัยอาณาจักรขอมยังเรืองอำนาจ จะเห็นได้ว่าเทวาลัย ปราสาทหินต่างๆที่ยังคงหลงเหลืออยู่นั้นต่างก็ได้รับอิทธิพลจากศาสนาพราหมณ์ ซึ่งพิธีกรรมและคตินิยมตามจารีตประเพณีของพราหมณ์ก็ได้ตกทอดมาจนถึงทุกวันนี้และแทรกซึมผสมผสานรวมเป็นหนึ่งในวิถีชีวิตของชาวไทย พราหมณ์ในชมพูทวีปคือวรรณะหนึ่ง หรือเรียกง่ายๆก็คือชนชั้นหนึ่งที่ได้มีการสืบเชื้อสายตกทอดมาซึ่งเป็นแนวคิดในวิถีชีวิตเฉพาะของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ในสังคมของผู้นับถือศาสนาพราหมณ์-ฮินดูในดินแดนชมพูทวีปนั้น พราหมณ์ถือเป็นวรรณะหนึ่งในสี่วรรณะของสังคมฮินดูที่ถือว่าเป็นวรรณะที่มีอิทธิพลสูงสุดวรรณะหนึ่งเพราะเป็นผู้รู้ เป็นปราชญ์ เป็นผู้สืบทอดวิชาความรู้ ในคัมภีร์ พระเวท พิธีกรรมต่างๆ จารีต ประเพณี ศิลปะ วัฒนธรรม ต่าง ๆ ให้สืบทอดต่อไป บางองค์ความรู้ก็ดำรงคงไว้ให้ผู้สืบเชื้อสายในตระกูลได้สืบทอด พราหมณ์ในศาสนาพราหมณ์-ฮินดูถ้าเปรียบเปรยแล้วก็มีสถานะเทียบได้กับพระสงฆ์ในศาสนาพุทธ เพียงแต่จริยวัตรของพราหมณ์นั้นจะแตกต่างจากพระสงฆ์ในหลายๆเรื่องเช่น พราหมณ์โดยปกติจะถือศีล นุ่งผ้าตามแบบลักษณะของนิกายตนเอง ไว้มวยผมบ้าง ปอยผมบ้าง หรือบางนิกายก็ตัดผมสั้น และทานมังสะวิรัต งดเว้นเนื้อสัตว์ แต่สำหรับพราหมณ์ไทยทานเนื้อสัตว์ได้แต่งดเว้นเนื้อสัตว์บางประเภทเท่านั้น เช่น เนื้อวัว เนื้อปลาไหล เนื้อนก เป็นต้น พราหมณ์ต้องถือศีลตามข้อวัตรปฏิบัติของนิกายที่ตนเองนับถืออยู่ พราหมณ์สามารถมีครอบครัวเพื่อสืบสกุล โดยจะพำนักอยู่บ้านพักอาศัยของตนเอง หรือ เทวะสถาน ประจำลัทธินิกายแห่งตน สำหรับพราหมณ์หลวงจะเข้าไปพำนักรอบๆเทวสถานโบสถ์พราหมณ์ดังจะเห็นได้จากจะมีชุมชนพราหมณ์อยู่ในบริเวณนั้น

สำหรับพราหมณ์ในสังคมไทย ผู้เขียนขอแบ่งออกเป็นสองกลุ่มใหญ่ๆกล่าวคือ พราหมณ์ที่เกิดในคติของพราหมณ์ไทย กับพราหมณ์ที่เกิดขึ้นในคติของพราหมณ์ฮินดู ถามว่าเพราะเหตุใด ผู้เขียนถึงแยกพราหมณ์ออกเป็นสองกลุ่มในลักษณะนี้เสียก่อน ก็ด้วยเหตุที่ว่า พราหมณ์ตามคติของไทยเรานั้น มีจริยวัตรแตกต่างและพิธีกรรม จารีต ประเพณีก็แปลกแตกต่างจากพราหมณ์ในศาสนาพราหมณ์-ฮินดูของชาวชมพูทวีปอยู่มากจนทำให้พิธีกรรมและอัตลักษณ์ของพราหมณ์ไทยนั้นแยกตัวออกมาและแตกต่างไม่เหมือนกันกับพราหมณ์ของประเทศในแถบชมพูทวีป เช่นประเทศอินเดีย ทั้งๆที่พราหมณ์ไทยมีต้นเค้าหรือรากเหง้ามาจากพราหมณ์อินเดียทางตอนใต้ของประเทศอินเดียในส่วนที่เรียกว่า ทมิฬนาฑู ในปัจจุบัน ซึ่งก็คงมีลักษณะที่คล้ายๆกันกับพราหมณ์ของชาวเกาะบาหลี ที่ประชากรเกือบทั้งหมดนับถือศาสนาพราหมณ์-ฮินดูในรูปแบบของชาวบาหลีเอง ดังนั้นจึงจำเป็นต้องแบ่งแบบนี้เพื่อให้ทำความเข้าใจกันก่อน ส่วนความเป็นพราหมณ์ไทยที่เกิดด้วยวิธีการแบบไทยนั้นผู้เขียนขอแบ่งออกเป็นสองกลุ่มใหญ่ๆ ตามความเข้าใจของผู้เขียนเองคือ เอาแบบที่อธิบายให้เข้าใจได้ง่ายก็คือ พราหมณ์หลวง และ พราหมณ์ราษฎร์

สำหรับผู้เขียนนั้นพราหมณ์หลวงคือผู้ที่ได้รับการบวชพราหมณ์จากที่ประชุมพราหมณ์ ในทำเนียบของพราหมณ์หลวง โดยผู้ขอรับการบวชจะนำของมาถวายต่อพราหมณ์ผู้ใหญ่ แล้วพราหมณ์ผู้ใหญ่จะมอบสายสิญจน์ที่เรียกว่า สายยัชโญปวีตเพื่อเป็นการแสดงว่าตนได้เกิดใหม่หรือทวิชาติ ซึ่งหมายถึงการเกิดครั้งที่ 2 ซึ่งการบวชพราหมณ์ในแบบพิธีไทยไม่ได้มีกฎปฏิบัติจำนวนมากเหมือนกับการบวชพระในพระพุทธศาสนา กล่าวโดยรวมคือพราหมณ์ในแบบไทยเรานั้นจะถือศีลขั้นพื้นฐานแบบเดียวกับศีล 5 เป็นศีลปฏิบัติ โดยสามารถแต่งกายสุภาพทั่วไปในเวลาปกติ และสวมเครื่องแบบเป็นเสื้อราชปะแตนและโจงกระเบนสีขาวในยามประกอบพิธีกรรม รวมถึงสามารถมีภรรยาเพื่อมีทายาทสืบตระกูลพราหมณ์ต่อไปได้ นี่เป็นเพียงขั้นตอนการบวชพราหมณ์แบบคร่าวๆของพราหมณ์ไทย แต่สำหรับการเป็นนักบวชในศาสนาพราหมณ์-ฮินดูของชาวอินเดียนั้นมีกฏเกณฑ์วัตรปฏิบัติที่มากกว่าเช่น ทานมังสะวิรัตตลอดชีวิต ถือศีลอดในเทศกาลบูชาที่สำคัญ ท่องจำพระเวทเพื่อประกอบพิธีบูชาและออกจาริกแสวงบุญในเวลาอันสมควร ซึ่งจะมีความแตกต่างจากพราหมณ์ในรูปแบบของไทย ซึ่งก็มีคนไทยที่ปฏิบัติตนเองและได้รับการบวชมาแล้วเช่นกันแต่มีจำนวนน้อยมาก พราหมณ์กับการไว้ทรงผม สำหรับพราหมณ์ไทยมีคติเกี่ยวกับเส้นผมคือห้ามตัดแต่งผม ต้องไว้ผมยาวแล้วมุ่นเป็นมวยไว้ที่ท้ายทอย เพราะตามหลักศาสนาเชื่อว่าศีรษะและเส้นผมเป็นที่อยู่ของเทวดา สำหรับพราหมณ์อินเดียหรือเนปาลจะไว้ผมบ้างหรือตัดผมบ้างแล้วแต่นิกายครับ ในปัจจุบันพราหมณ์หลวงนั้นมีบทบาทและหน้าที่ถวายงานรับใช้พระราชวงศ์ทำหน้าที่เกี่ยวกับ พระราชพิธีต่างๆ ของพระมหากษัตริย์ ในการอัญเชิญพระผู้เป็นเจ้าและทวยเทพตามความเชื่อของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู มาเป็นสักขีพยานในการพระราชพิธีนั้นๆ เพื่อความเป็นสิริมงคลแด่องค์พระมหากษัตริย์ เชื้อพระวงศ์ และบ้านเมือง ยกตัวอย่างเช่น พระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา พระราชพิธีฉัตรมงคล พระราชพิธีพืชมงคล พระราชพิธีตรียัมปวาย-ตรีปวาย เป็นต้น และงานตามวาระโอกาสสำคัญ อาทิ พระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น