วันพฤหัสบดีที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2553

นวราตรี 2553

เทศกาลนวราตรี 2553

เทศกาล นวราตรี: พิธีบูชาพระทุรคา 9 ปาง 9 วัน

โดย ชาคริต

Copyright © 2010 all rights reserved by Trisuli shop



สำหรับเทศกาลบูชาพระทุรคาตลอดทั้ง 9 วัน 9 คืนนั้นมีเฉลิมฉลองในทุกประเทศที่มีชาวฮินดูหรือมีผู้นับถือศาสนาพราหมณ์ฮินดูอาศัยอยู่ และเนื่องด้วยผมค่อนข้างสนิทชิดเชื้อกับชาวเนปาลีและรู้จักมักคุ้นกับครอบครัวชาวเนปาลีหลายครอบครัวหลายท่านและได้มีโอกาสเรียนรู้อะไรหลายๆอย่างจากประสบการณ์ในการเดินทางท่องเที่ยวแสวงบุญและศึกษาสิ่งต่างๆรอบตัว เหล่านี้ทำให้ผมเห็นถึงพลังศรัทธาของมนุษย์ไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือคนอินเดียและคนเนปาล ผู้บูชาต่างก็มีวิถีทางแห่งพลังศรัทธาของตนเอง วันนี้ผมเลยขอพูดถึงประเทศเล็กๆบนยอดเขาหิมาลัย สถานที่ประทับของมหาเทพโบไรนาถ(พระศิวะ)ผู้เป็นใหญ่ ประเทศเนปาลมีพื้นที่เล็กกว่าประเทศไทย 3 เท่าของประเทศโดยไทยเราแบ่งการปกครองออกเป็น 76 จังหวัด แต่ประเทศเนปาลแบ่งเขตการปกครองออกเป็นโซนๆ มีทั้งหมด 14 โซน ประชากรทั้งประเทศเท่ากับพลเมืองภาคอีสานของไทย คือ 22 ล้านคนโดยประมาณครับ ประชากรชาวเนปาลโดยส่วนใหญ่ใช้ภาษาเนปาลี ในความรู้สึกของคนทั่วๆไปหรือของคนไทยก็คือ เนปาลเป็นประเทศของพระพุทธศาสนา อาจจะเป็นเพราะพระพุทธเจ้าประสูติในเขตพื้นที่ประเทศเนปาล(ลุมพินี) ซึ่งเรารับรู้กันมาตั้งแต่เด็กๆในวิชาพระพุทธศาสนา แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่ใช่เลยนะครับ คนเนปาลนั้นมีจำนวนถึง 86.2% นับถือศาสนาพราหมณ์ฮินดู โดยมีผู้นับถือศาสนาพุทธหรือเป็นชาวพุทธอยู่เพียง 7.8% และก็เป็นพุทธแบบมหายานทิเบตในนิกายต่างๆ ไม่ได้นับถือในนิกายเถรวาทแบบประเทศไทย และมีชาวมุสลิม เพียงแค่ 3.8% เท่านั้น ประเทศอินเดียที่ถือกันว่าเป็นประเทศที่ใหญ่โตมากและมีจำนวนผู้นับถือศาสนาพราหมณ์ฮินดูเยอะมากๆแต่เมื่อเทียบอัตราส่วนแล้วประเทศอินเดียกลับมีชาวฮินดูเพียง 80% มุสลิม 14% ตรงจุดนี้เองที่อาจจะสามารถพูดได้ว่า ประเทศเนปาลเป็นรัฐที่นับถือศาสนาพราหมณ์ฮินดูเพียงรัฐเดียวที่ยังเหลืออยู่และมีสัดส่วนของชาวฮินดูสูงที่สุดในโลกก็ว่าได้เมื่อเทียบสัดส่วนกัน

สิ่งที่น่าสนใจของประเทศเนปาลอีกเรื่องก็คือตรงที่มีพรมแดนติดกับทั้งประเทศจีนและประเทศอินเดีย ซึ่งมีพลเมืองเป็นอันดับ 1 และ 2 ของโลก ทางใต้ที่ติดกับรัฐพิหารของอินเดียไม่มีแนวธรรมชาติเป็นพรมแดนกั้น ไม่มีทั้งภูเขาหรือแม่น้ำ แต่ทางเหนือที่ติดกับจีน มีเทือกเขาหิมาลัยขวางอยู่เป็นที่น่าสังเกตว่า การหลั่งไหลของวัฒนธรรมมุสลิมกับเชื้อชาติกลับไม่มีผลกระทบอย่างรุนแรงกับประเทศเล็กๆประเทศนี้ การล่าอาณานิคมในยุคล่าอาณานิคมก็กลับมองข้ามประเทศเนปาลไปเช่นเดียวกัน อาจจะเป็นด้วยเหตุเพราะภูมิประเทศของประเทศเนปาลที่เดินทางลำบากและเข้าถึงยาก จึงไม่เป็นที่น่าสนใจของชาวตะวันตกมากนัก ในช่วงการล่าอาณานิคม

หากใครได้มีโอกาสไปเที่ยวประเทศเนปาล อยากให้ลองสังเกตหน้าตาผิวพรรณของผู้คนชาวเนปาลีดูครับ ส่วนใหญ่จะเป็นชาวเนวาร์แต่บางทีก็เป็นการยากสำหรับคนทั่วไปที่จะดูว่าคนไทนเป็นชาวเนปาล คนไทนเป็นชาวทิเบตเหมือน เวลาฝรั่งที่มักแยกคนไทย คนลาว คนฟิลิปปินส์ ไม่ค่อยออก แต่ชนเผ่าที่มีอยู่มากก็เป็นพวกเผ่าลิมพุส เผ่าไร เผ่ามาคาร์ เผ่าคุรุง ฯลฯ และที่เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากก็คือชาวทิเบตที่อพยพลงมาตั้งถิ่นฐานในพื้นที่บริเวณเขตเนปาลและทางตอนเหนือของอินเดีย จนบางครั้ง คนไทยเราเองยังเข้าใจผิดคิดว่าคนทิเบตคือคนเนปาล เคยมีคำกล่าวในยุคสมัยล่าอาณานิคมอยู่ครั้งหนึ่งว่า ชนเผ่าชาวเนปาลที่ทหารอังกฤษเคยกลัวมากเป็นพวกเผ่าคุรุง เรียกอีกชื่อหนึ่งก็คือ กุรข่า เพราะเมื่อเกือบ 200 ปีก่อน ในยุคการล่าอาณานิคมนั้นได้เกิดสงครามระหว่างประเทศอังกฤษกับประเทศเนปาล ชาวกุรข่าเป็นคนเอเชียเชื้อชาติเดียว ที่มีความสามารถรบชนะกองทัพอังกฤซึ่งถือว่าอังกฤษเป็นอภิมหาอำนาจในสมัยนั้นได้และถือว่าเป็นกลุ่มคนที่มีอิทธิพล มากที่สุด ในประเทศเนปาลตั้งแต่ครั้งนั้นมาจนถึงปัจจุบันนี้



มาพูดถึงเรื่องศาสนาพราหมณ์ฮินดูในประเทศเนปาลกันดีกว่าครับเพื่อต้อนรับเทศกาล นวราตรี นิกายหลักๆ ในประเทศเนปาล มี 2 นิกายคือไศวะนิกายกับ ศักตินิกายบูชาเทวีเป็นใหญ่ แต่โดยส่วนใหญ่ของชาวเนปาลแล้วนับถือไศวะนิกายเป็นหลัก ก็ด้วยเหตุที่เป็นประเทศเดียวที่อยู่ใกล้กับภูเขาหิมาลัยอันเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของพระศิวะนั่นเอง สำหรับเทศกาลนวราตรี คือเทศกาลบูชาพระดุรกาทั้ง 9 ปาง หรือในภาษาไทยก็คือ พิธีบูชาพระทุรคา ทั้ง 9 ปาง โดยมีเทศกาลสำคัญคือเทศกาล ดาร์เชน (นวราตรี) หรือ ดุรกามหาบูชา ซึ่งจะดำเนินติดต่อกัน 10-15 วันถือเป็นช่วงวันหยุดยาว ผู้คนจะหยุดกิจกรรมในชีวิตประจำวันไว้อาทิตย์กว่าโดยประมาณเพื่อร่วมงานสำคัญนี้ถือเป็นพิธีเฉลิมฉลองที่ยิ่งใหญ่ที่สุดพิธีหนึ่งเลยทีเดียวครับ เทศกาล นวราตรี หรือ เทศกาลดูเซร่า ตามแบบภาษาทมิฬคือเทศกาลเฉลิมฉลองการประกาศชัยชนะเหนืออสูรมหิงสา ซึ่งคนไทยหลายๆคนที่นับถือบูชาในพระองค์หลายๆคนคงได้ไปร่วมบูชาและชมบารมีของพระองค์ที่วัดแขกสีลม ในงานประจำปีทุกๆปี


ในวันวิชัยทัศมีตามคติพราหมณ์ฮินดูแล้วจะถือกันว่าเป็นวันที่มหาเทวีทรงเสด็จลงมาบนโลกมนุษย์เพื่อโปรดสานุศิษย์ของพระองค์ดังนั้น ทุกบ้าน จะ เก็บกวาด ทำความสะอาด และตั้งโต๊ะบูชาพระทุรคากันอย่างสวยงามเพื่อรอรับพรจากพระองค์ โดยมีความเชื่อว่าเมื่อทรงเสด็จมาแล้วจะประทานพรความร่ำรวยมั่งคั่งอำนาจบารมีให้เสมอ ในเทศกาลบูชาทั้ง 9 วันนี้ บูชาพระทุรคาปางใดบ้าง ซึ่งโดยคติแล้วทางการบูชาพระทุรคาใน 9 วันนี้จะแตกต่างกันไปตามคติของแต่ละภูมิภาคและลัทธินิกาย สำหรับผู้นับถือตามคติของชาวทมิฬวัดแขกสีลมหรือกลุ่มผู้บูชาทางใต้ก็จะบูชาพระทุรคาทั้ง9 ปาง 9 วัน ตามคติของลัทธินิกายซึ่งแต่ละปีก็จะมีการอัญเชิญพระทุรคาในปางต่างๆลงมาเพื่อประกอบพิธีบูชาโดยอาจจะมีการปรับเปลี่ยนไปบ้างตามการคำนวณในปฏิทินของพราหมณ์แต่โดยหลักๆแล้ว จะยืนพื้นดังนี้คือ

1. ปางไศลบุตรี (shailputri) ปางพระปารวตีผู้เป็นธิดาของพระหิมวัต ผู้เป็นใหญ่ปกครองภูเขาหิมาลัย

2. ปางพรหมจาริณี (bramcharini) ปางนี้เป็นปางที่พระอุมาออกบำเพ็ญตบะเพื่อบูชาพระศิวะ กระทั่งเป็นที่พอพระทัยแห่งองค์พระศิวะจึงได้วิวาห์กับพระอุมา

3. ปางจันทราฆัณฐ์ (chandraghanta) ปางของพระทุรคาที่ทรงปราบอสูร ฆัณฑาและนำสันติสุขกลับคืนมาสู่โลก

4. ปางกูษมัณฑา (kushmanda) ปางที่มีรัศมีเปล่งปลั่งในสถานะผู้สร้างสรรค์จักรวาล

5. ปางสกันธ์มาตา (skandmata) ปางอุ้มพระสกันธ (ขันธกุมาร) ไว้บนตักแสดงถึงความรักของมารดาที่มีต่อบุตร

6. ปางกาตยะยานี (kaatyayani) ปางแห่งการทำลายมารร้ายในจิตใจและประทานสุขภาพที่แข็งแรงแก่สาวก ปางนี้พระแม่มี 4 กร

7. ปางกาลราตรี (kaalratri) ปางที่มีผิวดำหมายถึงการทำลายซึ่งอวิชชา ความโง่เขลาผู้อยู่เหนือการเวลา

8. ปางมหาเคารี (mahagauri) ปางประทานพรให้สาวกประสบแต่ความสุขสวัสดิ์มงคล

9. ปางสิทธิธาตรี (siddhidatri) ปางประทานโอกาสให้เหล่าเทพ ฤาษี สิทธา เทวดา คนธรรพ์ อสูร ยักษ์ และสาวกเข้าเฝ้า เพื่อให้บรรลุธรรมและให้ได้รับความสำเร็จทุกประการ



(ภาพ: พิธีบูชายัญในเทศกาลนวราตรีของชาว ทาร์ปา ในเนปาล)

แต่สำหรับปีนี้ยังไม่แน่ใจเรื่องปางของพระทุรคาที่จะเชิญลงมาครับ รอประกาศจากทางวัดที่โน่นก่อน แล้วผมจะแจ้งให้ทราบอีกครั้งนะครับ แต่สำหรับในทางตอนใต้ของอินเดียในบางภูมิภาคจะแบ่งการบูชาออกเป็นช่วงละ 3 วันโดยใน 3 วันแรกจะประกอบพิธีบูชาพระทุรคาในภาคของพระมหากาลี และในช่วงที่สองจะประกอบพิธีบูชาพระศรีมหาลักษมี และช่วง3 วันสุดท้ายประกอบพิธีบูชาพระศรีมหาสุรัสวตีและในวันสุดท้ายก็จะมีการเผาหุ่นยักษ์เพื่อแสดงถึงชัยชนะของพระทุรคาต่อเหล่าอสูร ดังนั้นจะเห็นได้ว่าในแต่ละภูมิภาคของอินเดียมีพิธีการบูชาที่แตกต่างกันออกไป


(ภาพ: สตรีชาวเนวารีกำลังประกอบพิธีบูชาสัตว์เทวะก่อนเข้าไปภายในมหาวิหารช่วงเทศกาลนวราตรี)

สำหรับขั้นตอนพิธีบูชาในแบบชาวเนปาลีนอกเหนือไปจากการบูชาพระทุรคาในปางต่างๆแล้วสิ่งที่ขาดไม่ได้คือในพิธีบูชาวันแรกจะมีพิธีสถาปนากลัศบูชา หรือพิธีประกอบหม้อน้ำบูชาเป็นพิเศษโดยเครื่องบูชาดังกล่าวคนไทยมักเข้าใจผิดและเรียกกันผิดๆว่า บายศรีแขก แต่ในความเป็นจริงแล้วคติต่างๆของคำว่าบายศรีกับคำว่ากลัศบูชานั้น แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ภาชนะที่ใส่น้ำเพื่อการบูชานี้จะต้องประกอบไปด้วยน้ำที่นำมาจากแม่น้ำสายสำคัญต่างๆที่ตักมาจากท่าน้ำตามวรรณะของตนเองและต้องผ่านการประกอบพิธีบูชามาแล้วจึงจะนำน้ำดังกล่าวมาประกอบพิธีและบรรจุน้ำไว้ในหม้อเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของกลัศบูชาได้เมื่อได้น้ำมาแล้วผู้ประกอบกลัศจะวางลูกมะพร้าวไว้ด้านบนมีใบมะม่วงวางอยู่รายรอบปากภาชนะแต่ก่อนที่จะวางใบมะม่วงลงไปผู้ประกอบพิธีจะใส่สิ่งของและสมุนไพรต่างๆลงไปด้วยเช่น หมาก ใบพลู เป็นต้น พิธีการสถาปนากลัศบูชาจะต้องมีการกำกับพระเวทไว้ด้วยทุกขั้นตอนจึงจะถือว่าเป็นกลัศบูชาที่สมบูรณ์ไม่เช่นนั้นแล้วก็เป็นเพียงของประดับตกแต่งสถานที่เท่านั้นไม่ใช่กลัศบูชาที่ถูกต้องตามหลักศาสนพิธีและจารีตประเพณีของศาสนา เมื่อประกอบกลัศและสาธยายพระเวทกำกับเรียบร้อยแล้วก็ตั้งกลัศไว้หน้าเทวรูป หรือ รูปภาพของพระทุรคาและมีการวางกระบะทรายเอาไว้ข้างๆหรือโดยรอบกลัศบูชานั้นซึ่งจะต้องเป็นทรายที่กรองจนสะอาดและเหลือเฉพาะ ทรายแล้วเท่านั้น ไม่มี เศษกรวด หรือสิ่งเจือปนอื่นๆ ชาวเนปาลีจะทำการโรยเมล็ดข้าวบนทรายเหล่านั้นเพื่อเริ่มพิธีบูชาในวันแรก โดยปกติแล้วในพิธีบูชาดังกล่าวชาวเนปาลีจะเชิญพราหมณ์มาประกอบพิธีให้ หรือ ให้หัวหน้าครอบครัวที่เป็นผู้ชายที่รู้ในพระเวทประกอบพิธีสวดอัญเชิญและสถาปนากลัศและในระหว่างนั้น โดยปกติ จะไม่อนุญาตให้ผู้หญิงเข้ามาในห้องบูชาเด็ดขาดแต่ก็ไม่มีกฎตายตัว บางบ้านก็ไม่ห้าม แต่บ้านผมห้ามครับ 555+ โดยเฉพาะสตรีที่มีประจำเดือนห้ามโดยเด็ดขาดหรือแม้แต่ใครก็ตามที่มีเลือดออกจากร่างกายเช่น โดนมีดบาดเป็นต้น บ้านผมก็ห้ามเข้ามาในพิธีบูชาเด็ดขาดเช่นกัน โดยผู้ประกอบพิธีบูชาจะต้องทำการบูชาตามระเบียบแบบแผนการบูชาทั้ง 16 ขั้นตอนทั้งในตอนเช้า และตอนเย็นของทุกวัน ตลอดเทศกาลเมื่อเสร็จพิธีการบูชาในแต่ละครั้งแล้วจะนำน้ำที่ได้จากการบูชามาประพรมทั่วทั้งบ้าน และประพรหมไปที่กระบะทรายซึ่ง โดยประมาณ แล้ว ต้นกล้าของข้าวก็จะโต ยาว ประมาณ 3-4 นิ้วพอดีเมื่อเสร็จสิ้นเทศกาลต้นกล้านี้ เรียกว่า จามาร่า ครับ โดยในวันที่เจ็ดของเทศกาลที่เนปาลจะมีการจัดขบวนแห่ไปประกอบพิธีตรงสนามกลางเมืองทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของกรุงกาฎมัณฑุโดยจะมีขบวนกองทหารและกิจกรรมงานฉลองอย่างยิ่งใหญ่โดย พระมหากษัตริย์จะทรงเสด็จเข้าร่วมพิธีครั้งนี้ด้วยและนำกลัศบูชาของหลวงมาเข้าพิธีและนำเข้าไปในวิหารพระหนุมาน เพื่อทำพิธีบูชาภายในและสิ้นสุดพิธีกรรมในวันนั้นด้วยการบูชายัญ

วันที่ 8 ของเทศกาล คือ วัน มหาอัชตามี คือวันที่มีการสังเวยชีวิตสัตว์ คือ แพะ ไก่ ควายเพื่อบวงสรวงสังเวยต่อ พระทุรคาโดยตลอดทั้งวันและกลางคืนจะมีการสังเวยสัตว์เหล่านี้เป็นพันๆตัวในคืนนี้เรียกว่า กาลราตรี ก็จะมีการสังเวยบูชายัญกันอีกครั้งหนึ่งไปตลอดจนไปสิ้นสุดจริงๆคือตอนเช้าของวันใหม่ วันนี้ทั้งวันจะมีแต่กลิ่นคาวเลือดผสมกลิ่นกำยาน

(ภาพ: ร้านค้าขายสินค้าต่างๆในช่วงเทศกาลนวราตรี)

ในวันที่ 9 ที่มหาวิหารมหาเทพ เตรูจา วันนี้ ประตูมหาวิหารจะถูกเปิดให้ประชาชนได้มีโอกาสเข้าไปได้ปีละครั้งเท่านั้น โดยจะอนุญาตให้เข้าถึงบริเวณสนามหน้ามหาวิหารใหญ่เท่านั้นและบริเวณนี้เองที่จะมีพิธีการบูชายัญอีกครั้งซึ่งเลือดที่เกิดจากการบูชายัญจะกระจายเต็มพื้นที่สนามจนแดงกร่ำเหมือนสีของผลทับทิมและในวันนี้ อุปกรณ์ หรือ เครื่องมือเครื่องใช้ทำมาหากิน รวมทั้งรถยนต์ หรือ พาหนะต่างๆจะได้รับการบูชาสังเวยบูชายัญ ด้วยเช่นกัน


(ภาพ: การแสดงในช่วงเทศกาลนวราตรีเพื่อเฉลิมฉลองและบูชาพระทุรคา)

ในวันที่ 10 ของเทศกาลนี้กษัตริย์แห่งเนปาลจะรับการ ติการ์หรือการเจิมผงเจิมสีแดงที่บริเวณหน้าผากในแบบเนปาลีที่ไม่เหมือนใครจากพราหมณ์ใหญ่ของวัดปสูปฏินาถและต้องได้รับการเจิมจากองค์กุมารีแห่งเมืองปาร์ตันหลังจากนั้นพระองค์จะทรงเจิมหน้าผากให้กับข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ และ ประชาชนทั่วไปรวมไปถึงนักท่องเที่ยวต่างๆที่จะเข้ารอรับการเจิมจากพระองค์ ส่วนชาวบ้านก็ จะเวียนกันไปหาบ้านผู้ใหญ่ที่ตนเองเคารพนับถือเพื่อรับการเจิมหน้าผากจากผู้ใหญ่ที่ตนเองเคารพโดยถือเป็นการได้รับพรจากพระทุรคาครับ เทศกาลที่ผมกล่าวมานี้ เป็นเทศกาล นวราตรี ในแบบชาวเนปาลี สำหรับรูปพิธีบูชาที่บ้านผมจะเอารูปมาให้ชมในเร็ววันครับและหลังจากงานพิธีนวราตรีจบลง พิธีบูชาใหญ่ที่ต่อท้ายมาใกล้ๆก็คือเทศกาล ดีปาวาลี หรือ ติฮาร์ ซึ่งก็คือเทศกาล บูชาพระศรีมหาลักษมี มหาเทวีแห่งความมั่งคั่งร่ำรวยหรือเทศกาลแห่งแสง นั่นเองครับ

Copyright © 2010 all rights reserved by Trisuli shop

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น