ผู้บูชาในพระพิฆเนศวรคงทราบกันดีว่าอีกไม่กี่วันก็ใกล้จะถึงมหาเทศกาลคุรุบูชา หรือเทศกาลคเณศจตุรถีอีกวาระหนึ่ง ซึ่งถือเป็นวันที่มีความสำคัญสำหรับชาวฮินดูและคนไทยหลายๆคนที่มีความเคารพนับถือในองค์คุรุเทพพระองค์นี้ มหาเทพผู้ขจัดอุปสรรคทั้งปวง เทศกาลนี้จะจัดขึ้นในวันขึ้น 4 ค่ำ เดือนภัทรบท หรือประมาณเดือน 10 ไทย (ประมาณเดือนกันยายน) ของทุกๆ ปี คำว่า จตุรถี ตามรากศัพท์แล้วแปลว่า ลำดับที่ 4 ซึ่งก็คือวันขึ้น 4 ค่ำ (ศุกลปักษ์ จตุรถี) ซึ่งในปีนี้ตรงกับวันที่ 11 กันยายน หลายคนคงกำลังจัดเตรียมข้าวของเครื่องใช้ต่างๆนาๆ สำหรับผู้เขียนขออธิบายถึงที่มาของเทศกาลนี้ก่อนที่จะพูดถึงวิธีการบูชาว่าชาวฮินดูเขาศรัทธาและประกอบพิธีบูชากันอย่างไรบ้างและสำหรับผู้เขียนแล้วจะประกอบพิธีพราหมณ์บูชาสักการะที่บ้านของตนเอง
(ภาพ: พระพิฆเนศวรในปะรำพิธีบูชา)
เทศกาลคเณศจตุรถี หรือ วินายกาจตุรถี (Vinayaka caturthi) คือพิธีสักการะบูชาองค์พระคเณศ โดยถือกันว่าเป็นวันคล้ายวันประสูติขององค์พระพิฆเนศวร ในพิธีนี้ชาวฮินดูไม่ว่าจะในประเทศใดจะพากันเฉลิมฉลองกันอย่างยิ่งใหญ่ตลอดระยะเวลา 10 วัน ใช่ครับ พิธีคเณศจตุรถีมีทั้งสิ้น 10 วันโดยเริ่มในวันแรกในวันขึ้น 4 ค่ำเพื่อทำการบูชาโดยชาวฮินดูจะปั้นเทวรูปพระคเณศขึ้นจากวัสดุธรรมชาติต่างๆเช่นดินเหนียว, เมล็ดธัญพืชต่างๆ เป็นต้นโดยมีตั้งแต่ขนาดเล็กไม่กี่นิ้วไปจนถึงขนาดใหญ่เท่ากับตึก 3 ชั้นก็มีปรากฏโดยในบางพื้นที่จะมีการปิดถนนเพื่อตั้งซุ้มเล็กๆที่สร้างชั่วคราวหรือเรียกว่า ปะรำหรือมณฑปสำหรับประดิษฐานพระคเณศไว้ชั่วคราวและประดับประดาดอกไม้และตกแต่งด้วยไฟประดับต่างๆ ยิ่งตกดึกยิ่งครึกครื้นในหลายๆพื้นที่มีการจัดประกวดซุ้มต่างๆเหล่านี้ถือเป็นงานใหญ่ประจำปีเช่นกัน และสำหรับองค์เทวรูปที่สร้างขึ้นเพื่อการบูชาในเทศกาลนี้ก็ไม่ได้ถูกกำหนดรูปแบบตายตัวดังนั้นถ้าใครได้ไปเห็นกับตาตัวเองจะเห็นถึงอารมณ์และความสนุกของเหล่าช่างศิลป์ผู้ทำหน้าที่ปั้นแต่งเทวรูปของพระคเณศ เมื่อตระเตรียมทุกอย่างพร้อมแล้วจึงได้มีการเชิญพราหมณ์มาประกอบพิธีปราณประดิษฐาน หรือเรียกแบบบ้านเราก็คือให้พราหมณ์มาเบิกเนตรนั่นเองแล้วจึงประกอบพิธีบูชาตามขั้นตอนต่างๆไปจนเสร็จพิธี
(ภาพ: พระพิฆเนศวรที่ปั้นจากดินเหนียว เตรียมสำหรับลงลอยในแม่น้ำคงคา)
สำหรับพิธีบูชาใหญ่ๆ ท่านสามารถไปเข้าร่วมพิธีตามสถานที่ต่างๆได้ และสามารถเอาเทวรูปไปเข้าร่วมพิธีในวันนี้ก็ได้โดยถือว่าเป็นการให้พราหมณ์เบิกเนตรเทวรูปพระพิฆเนศด้วยเช่นเดียวกันผู้เขียนเข้าใจว่าหลายๆที่คงเปิดโอกาสให้นำเทวรูปเข้าร่วมพิธีและพราหมณ์จะประกอบพิธีบูชาให้ครับ แต่สำหรับผู้เขียนคงประกอบพิธีบูชาอยู่ที่บ้านเพราะคงไม่สะดวกที่จะไปร่วมงานพิธีที่ไหนแต่ก็ไม่แน่ครับ สำหรับผู้บูชาที่ต้องการประกอบพิธีบูชาด้วยตนเองต้องทำอย่างไรบ้าง สิ่งแรกคือจัดสถานที่อันเหมาะสมโดยจัดสถานที่แยกไว้ต่างหากจากโต๊ะหมู่บูชาปกติเพื่อประกอบพิธีบูชาเฉพาะองค์พระคเณศ สำหรับข้าวของที่ต้องเตรียมในการบูชาองค์พระพิฆเนศวรได้แก่ ดอกไม้ เช่น ดอกดาวเรือง, ดอกกุหลาบ เป็นต้นโดยเลือกดอกไม้ที่มีสีสันสดใสและเครื่องบูชาอื่นๆเช่นมี ข้าวสวยที่หุงสุกใหม่ ข้าวปงกัลป์ ปะยาสัมต่างๆ (สำหรับของผู้เขียนข้าวปะยาสัมจะหุงรอบแรกตอนประมาณตี 5 ของวันก่อนประกอบพิธี) น้ำตาล นม เนย โยเกิร์ต น้ำผึ้ง ใบพลู เครื่องเทศต่างๆที่ต้องใช้ในการบูชา น้ำเปล่าสะอาด และที่ขาดไม่ได้เลยสำหรับผู้มีกำลังทรัพย์และสามารถหาซื้อมาได้ก็คือขนมแขกชนิดหนึ่งสำหรับคนบูชาองค์พระพิฆเนศวรคือ ขนมโมทกะ กับขนมลัดดู ขนมทั้งสองอย่างนี้มีความแตกต่างกันนะครับ ไม่ใช่ขนมชนิดเดียวกัน อย่าสับสนแต่ถ้าใครหาขนมโมทกะแบบแขกๆ ไม่ได้ ผู้เขียนขอบอกว่าขนมต้มขาวบ้านเราก็ใช้แทนกันได้ครับไม่จำเป็นต้องใช้ขนมแพงๆก็ได้สำหรับผลไม้ที่ควรมีคือกล้วยน้ำหว้าสุก อ้อยสด มะพร้าวอ่อนทั้งขนมและผลไม้ก็เป็นของกินพื้นๆทั่วไปเท่าที่หาได้ครับ การประกอบพิธีบูชาสิ่งสำคัญที่สุดนอกเหนือไปจากธรรมเนียมจารีตพิธีกรรมแล้วคือจิตใจครับ จงใช้ใจในการบูชาเป็นสำคัญแต่พิธีกรรมที่ทำด้วยใจก็ต้องไม่เกินเลยไปกว่ากรอบจารีตของศาสนาที่สั่งสมมาเป็นพันๆปี
|
(ภาพ: พิธีบูชาพระพิฆเนศประจำปี 2553) |
พิธีบูชาเริ่มด้วยการทำความสะอาดหิ้งบูชาให้สะอาดเสียก่อนที่จะนำองค์พระพิฆเนศวรออกมาสรงน้ำเพื่อทำความสะอาด สิ่งของที่ใช้สรงเทวรูปนั้นขึ้นอยู่กับคติประเพณีของแต่ละท้องถิ่นและภูมิภาคของอินเดีย แต่โดยทั่วไปแล้วของที่ใช้สรงกันหลักๆ คือน้ำสะอาด นมสด โยเกิร์ต น้ำตาลทราย น้ำผึ้ง เป็นต้น เมื่อทำการสรงองค์เทวรูปเสร็จเรียบร้อยและประดับเครื่องทรงแต่งองค์เพื่อความสวยงามแล้วจึงเชิญเทวรูปขึ้นตั้งประจำตำแหน่งบนสถานที่ที่จัดเตรียมไว้จากนั้นทำการบูชา 16 ขั้นตอนตามหลักศาสนพิธีที่เรียกว่า โษฐโศปะจาร หรือพิธีอุปจาระ 16 ขั้นตอน โดยเริ่มจากการทำความสะอาดมณฑลพิธีด้วยการประพรหมน้ำสะอาดจากภาชนะในถาดบูชาไปรอบสถานที่บูชาและรอบตัวของผู้ประกอบพิธีบูชาโดยผู้ประกอบพิธีบูชาจะต้องนั่งขัดสมาธิอยู่บริเวณด้านหน้าทางซ้ายมือของแท่นพิธี และกำหนดปราณของผู้ประกอบพิธีบูชาเพื่อให้มีสมาธิในระหว่างพิธีและทำการบูชาด้วยดอกไม้ และเครื่องบูชาต่างๆ ตามด้วยสวดมนต์บูชาจากคัมภีร์ คเณศ อุปนิษัท เช่น สวดคณปติยอาถวรศีรษะ เป็นต้นและเมื่อถวายอาหารหรือไนเวทยัมต่างๆครบแล้วก็จะปิดท้ายการบูชาด้วยการสวดมนต์ต่างๆ เช่น การสวดสรรเสริญพระนาม 108 จบ เมื่อเสร้จสิ้นทุกอย่างแล้วจึงประกอบพิธีอารตีไฟเพื่อจบพิธีการบูชาประจำวัน ผู้ศรัทธาอาจจะใช้การสวดสรรเสริญพระนาม หรือ จะเป็นเพลงอารตีเปิดซีดีก็ทำได้หากผู้ศรัทธาไม่สามารถร้องอารตีได้
การอารตี หรือการถวายไฟในที่นี้คนละอย่างกับการก่อกองกูณฑ์ หรือพิธีโหมกรรม การบูชาไฟลักษณะนี้ผู้ประกอบพิธีจะต้องเป็นพราหมณ์เท่านั้นคือต้องมีการสาธยายพระเวทกำกับทุกขั้นตอนดังนั้นจึงต้องประกอบพิธีอย่างถูกต้องคนละอย่างกับการอารตีไฟ พิธีอารตีเป็นขั้นตอนสุดท้ายของการบูชาสิ่งที่ต้องเตรียมคือ ถาดบูชาไฟหรือตะเกียงอารตีที่ใช้สำหรับจุดไฟได้โดยในท้องตลาดมีให้เลือกมากมายหลายขนาดและเหมาะสำหรับใช้กับทั้งการบูร น้ำมันปาล์ม น้ำมันเนย เป็นต้นในช่วงระหว่างเทศกาลชาวฮินดูจะพากันถือศีลอดหรือถือพรตไปด้วยโดยพิธีนี้จะมีไปจนถึงวันอนันตะ จตุรทศี หรือวันขึ้น 14 ค่ำ รวมเป็นเวลาทั้งสิ้น 10 วัน โดยทุกๆวันจะมีการสวดมนต์บูชาและทำพิธีอารตีในเวลาหัวค่ำและเมื่อถึงวันที่ 11 ของเทศกาลจะมีพิธีวิสรชัน หรือพิธีการส่งเสด็จมหาเทพกลับสู่เทวโลก โดยในในวันนั้นจะมีการประกอบพิธีอุปจาระ 16 ขั้นตอนอีกครั้งหนึ่งแล้วจึงเชิญเทวรูปไปยังแหล่งน้ำที่อยู่ใกล้ที่สุดโดยเทศกาลที่ประเทศอินเดียในรัฐต่างๆที่มีพื้นที่ติดกับทะเลจะเห็นภาพขบวนแห่เทวรูปจากหมู่บ้านจากเมืองต่างๆพร้อมทั้งผู้คนมากมายพากันร้องรำทำเพลง สนุกสนานบางแห่งมีการสาดผงสีที่เรียกว่าผงโฮลี่ สีต่างๆไปตามถนนเพื่อเป็นการอวยพรให้กันและกันทุกคนต่างพากันมุ่งหน้ามาส่งเทวรูปพระคเณศกลับสู่เทวโลกและเมื่อถึงชายฝั่งจะมีการทำพิธีอารตีอีกครั้งและนำเทวรูปพระคเณศลงลอยในทะเลซึ่งเท่ากับเสร็จสิ้นพิธีการทั้งหมดในเทศกาลนี้
ในช่วงพิธีบูชาหากใครได้ไปร่วมงานบูชาของชาวฮินดูแล้วจะได้แต่กลิ่นกำยาน กลิ่นธูปต่างๆมากมาย หอมตลบอบอวลไปทั่วแม้จะกลับบ้านมาแล้วกลิ่นก็ยังติดอยู่ตามเสื้อผ้าหรือแม้แต่เส้นผม สำหรับการจุดธูปหรือกำยานในความเชื่อของชาวฮินดูนั้น กลิ่นหอมของกำยานหรือธูปจะทำลายสิ่งไม่ดี ความชั่วร้ายที่วนเวียนอยู่ในเคหะสถานหรือมณฑลพิธีนั้นๆให้หมดไปและเป็นสื่อของความปรารถนาต่างๆไปยังพระเป็นเจ้า แต่ถ้าครอบครัวใดมีกำลังทรัพย์มากหน่อยอาจจะเชิญพราหมณ์มาประกอบพิธีบูชาที่บ้านตนเองก็สามารถทำได้และถวายอาหารกับพราหมณ์ถือเป็นการทำบุญเช่นเดียวกับการถวายอาหารให้กับพระสงฆ์ตามคติของศาสนาพุทธที่สำคัญและเป็นข้อห้ามในการบูชาในเทศกาลบูชาคเณศจตุรถี คือห้ามมองพระจันทร์ในคืนของการบูชาพระพิฆเนศวร ในความเชื่อ แต่หากเผลอมองพระจันทร์ ก็มีวิธีแก้ง่ายๆ คือ ให้ชาวบ้านรุมด่า แต่การด่าไม่ใช่คิดร้ายต่อผู้ถูกด่า แต่เป็นความหวังดี เพราะเชื่อว่าจะได้พ้นจากคำสาปนั้น
(ภาพ: พระพิฆเนศวรปั้นจากดินเหนียวทาสีสันสวยงามภายในโรงเก็บก่อนจัดจำหน่าย)
ทำไมวันคเณศจตุรถี ห้ามมองพระจันทร์ มีตำนานเล่าว่า พระพิฆเนศวรทรงเสวยขนมโมทกะเป็นจำนวนมากแล้วพลัดตกจากหลังมูสิกะ (หนูที่ทรงประทับเป็นพาหนะ) เนื่องจากมูสิกะมองไปเห็นงูเห่าตรงหน้าทำให้ตกใจ จนพระพิฆเนศวรตกจากหลังทำให้ท้องของพระองค์แตก พระองค์ก็เก็บขนมโมทกะเข้าท้องแล้วจับงูตัวนั้นมาทำเป็นเข็มขัดคาดพุงพระจันทร์เห็นเช่นนั้นก็อดขำไม่ได้ หัวเราะออกมาเสียงดังทำให้องค์พระพิฆเนศวรทรงโกธรเอางาขว้างไปปักที่พระจันทร์ทำให้แสงของพระจันทร์ดับไป เดือนร้อนถึงเหล่าเทวดาต้องไปทูลขอให้องค์พระพิฆเนศวรทรงดึงงาออกจากพระจันทร์ คำสาปทำให้พระจันทร์ไม่เต็มดวงต้องแหว่งเป็นเสี้ยวจะเต็มดวงก็ต่อเมื่อ ขึ้น 15 ค่ำ และแรม 1 ค่ำ เท่านั้นและผลของคำสาปก็ตกมาถึงคนที่มองพระจันทร์ในวันคเณศจตุรถีไปด้วย
อย่างไรเสียตำนานก็เป็นเพียงความเชื่อที่ถูกบันทึกและเล่าสืบต่อกันมา อยู่ที่ตัวเราทำกรรมดี หรือกรรมชั่ว หากทำกรรมดีพระเป็นเจ้าก็คงประทานพรแต่หากกระทำกรรมชั่วพระเป็นเจ้าคงไม่สรรเสริญคนผู้นั้น
วกฺร ตุณฺฑ มหากายา สุรฺยโกฏิ สมฺม ปรฺภ
นิรวิฆนมฺ กุรุเมเทว สรฺร วการฺเยรฺสุ สรฺร วฏา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น